ธรรมนูญ
สภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
พ.ศ. ๒๕๕๔
ข้อ ๑. ธรรมนูญนี้เรียกว่า “ธรรมนูญสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย “
ข้อ ๒. ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔
ข้อ ๓. เครื่องหมายของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย เป็นรูปลักษณะแปดเหลี่ยมสีแดงเข้ม
ความหมาย สภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย เป็นองค์กรภาคประสังคม เกิดจากการรวมตัวของผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการให้ชาติไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เรามีอุดมการณ์ร่วมกัน
เรา....มั่นใจว่า
• ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
• ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
• เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
รูปแปดเหลี่ยมด้านเท่า สีแดงเข้ม สื่อถึง เอกภาพความมั่นคง เสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันของปวงชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งแปดทิศ
ความเรียบง่ายของตราสัญญลักษณ์ที่ใครก็ทำได้ สื่อถึง ประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของเรา พลเมืองของชาติทุกคนที่สามารถร่วมกันสร้างชาติไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้
หมวด ๑
ข้อความทั่วไป
ข้อ ๔. ในธรรมนูญนี้
“ สภา ” หมายความว่า สภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย โดยใช้ชื่อย่อว่า " สนป."
“ สมาชิก ” หมายความว่า สมาชิกของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“ คณะกรรมการ” หมายความว่าคณะกรรมการดำเนินการของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“ เลขาธิการ ” หมายความว่า เลขาธิการสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“ กรรมการ ” หมายความว่า กรรมการดำเนินการของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“เงินค่าสมัคร” หมายความว่า เงินที่เรียกเก็บจากผู้ซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“เงินค่าบำรุง” หมายความว่า เงินที่เรียกเก็บจากสมาชิกเป็นรายเดือนหรือรายปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
“เงินสนับสนุน” หมายความว่า เงินที่มีผู้ให้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสภา โดยสุจริตใจและไม่มีข้อผูกพันใดๆ
“ทรัพย์สิน” หมายความว่า ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยสภา หรือมีผู้บริจาคให้สภา
“ที่ประชุม” หมายความว่า ที่ประชุมสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตยประจำเดือน
“ที่ประชุมใหญ่” หมายความว่า ที่ประชุมสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตยสามัญประจำปี
หมวด ๒
วัตถุประสงค์
ข้อ ๕. สภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(๑) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(๒) ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง
(๓) ส่งเสริมพลเมืองให้มีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
(๔) ส่งเสริมพลเมืองให้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นและระดับชุมชน
(๕) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
โดยมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือหารายได้เพื่อแบ่งปัน
หมวด ๓
ที่ตั้งสำนักงานและวันเวลาเปิดทำการ
ข้อ ๖. สำนักงานของสภาตั้งอยู่ที่ ชั้น ๑ อาคารมูลนิธิ ๑๑๑ ไทยรักไทย เลขที่ ๔๔๔/๑ ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐๒-๖๒๗-๐๙๐๙ ต่อ ๕๐๒๔ โทรสาร ๐๒-๖๒๗-๐๙๐๙ ต่อ ๕๐๒๕
Email : spadmc@gmail.com Website : http://spadmc.blogspot.com
ข้อ ๗. สภาจะเปิดทำการในวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.
หยุดทำการในวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
หมวด ๔
วิธีการรับสมาชิกและการขาดจากสมาชิกภาพ
ข้อ ๘. ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภาต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสภาด้วยตนเอง
ณ ที่ตั้งสำนักงานของสภา ในวันเวลาเปิดทำการ
ข้อ ๙. ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในอุดมการณ์ของสภา
(๒) ศึกษาและเข้าใจในวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของสภา
(๓) มีความศรัทธาในสภา
ข้อ ๑๐. ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องนำเอกสารหลักฐาน ประกอบการสมัคร ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(๒) ใบสมัครตามแบบที่สภากำหนด
(๓) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่น ขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป
ข้อ ๑๑. ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นสมาชิกภาพสมบูรณ์ เมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการมีมติรับเข้าเป็นสมาชิกและได้ชำระเงินค่าสมัคร ให้แก่สภาแล้ว เงินค่าสมัครสภาจะไม่คืนให้ผู้สมัคร ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ข้อ ๑๒. สภาจะมอบหลักฐานการเป็นสมาชิกในรูปบัตรประจำตัวสมาชิกให้แก่สมาชิกทุกคน สมาชิกของสภาจะมีหมายเลขประจำตัวสมาชิก ได้หมายเลขเดียวเท่านั้น
ข้อ ๑๓. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออกเป็นหนังสือ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือ ถ้าไม่ระบุ ให้ถือวันที่ระบุในส่วนหัวของหนังสือ เหตุผล การลาเป็นสิทธิส่วนบุคคล
(๓) ที่ประชุมใหญ่สภามีมติให้ออก
การสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อนี้ สมาชิกไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าสมัคร เงินค่าบำรุง และเงินสงเคราะห์ที่ได้ชำระตามธรรมนูญนี้คืนจากสภา
ข้อ ๑๔. สภาจะแจ้งเป็นหนังสือให้สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพ ตามข้อ ๑๓ (๒) (๓) เพื่อทราบ นับแต่วันที่ที่ประชุมมีมติ ภายใน ๗ วัน
สมาชิกที่พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อ ๑๔ (๓) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ
ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันยื่นอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
หมวด ๕
เงินค่าสมัคร เงินค่าบำรุง
ข้อ ๑๕. ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภา ต้องชำระเงินค่าสมัครเป็นเงินคนละ ๒๐ บาท (ยี่สิบบาทถ้วน) และเมื่อสภามีมติรับเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ ๑๒ แล้ว จะต้องชำระเงินค่าบำรุง ปีละ ๕๐ บาท (ห้าสิบบาทถ้วน)
เงินค่าบำรุง ต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่สามัญ และหากมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีมติจากที่ประชุมใหญ่ทุกครั้ง
ข้อ ๑๖. การชำระเงินค่าสมัคร เงินค่าบำรุง ให้ชำระได้ ด้วยตนเอง ณ สำนักงานของสภา การรับเงินทุกประเภท สภาจะออกหลักฐานการรับเงินทุกครั้งตามแบบที่สภากำหนด
หมวด ๖
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ ๑๗. สมาชิกมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสภาต่อคณะกรรมการและเรียกร้องให้คณะกรรมการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์ของสภา
(๒) เข้าร่วมประชุมใหญ่ของสภา และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเพื่อบริหารงานสภา รวมทั้งออกเสียงลงคะแนนทุกครั้ง
(๓) ขอตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบการดำเนินกิจการของสภาในวันเวลาเปิดทำการ
(๔) ลงชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๑๐ คน หรือจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์และวัตถุประสงค์ของสภา
ข้อ ๑๘. สมาชิกมีหน้าที่ ดังนี้
(๑) ดำเนินการตามอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ กฎ และระเบียบของสภา
(๒) เสียสละ อดทน มุ่งมั่น และรักษ์สามัคคี เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของสภา
(๓) ไม่กระทำการใดใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสภา
(๔) ร่วมดำเนินการกับสภาอย่างสร้างสรร
หมวด ๗
การใช้จ่ายและการเก็บรักษาเงิน
ข้อ ๑๙. สภาจะใช้จ่ายเงินในการดำเนินกิจการ ดังนี้
(๑) ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเช่าที่พักของกรรมการ
(๒) ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเช่าที่พักของเจ้าหน้าที่สภา
(๓) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
(๔) ค่าลงทะเบียนในการเข้าร่วมประชุม อบรม และสัมมนาของกรรมการและเจ้าหน้าที่สภา
(๕) ค่าเช่าอาคารสำนักงานของสภา
(๖) ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุ ค่าซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษา และค่าเสื่อมราคา
(๗) ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และค่าไปรษณีย์
(๘) ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสภา
(๙) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่
ข้อ ๒๐. ค่าใช้จ่ายตามข้อ ๑๙ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๙) สภาต้องวางเป็นระเบียบ และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ และส่งให้เลขาธิการให้ความเห็นขอบภายใน ๗ วัน และเมื่อเลขาธิการอนุมัติแล้วจึงจะถือปฏิบัติได้
ข้อ ๒๑. เงินทุกประเภทที่สภาได้รับต้องนำฝากธนาคารของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ ในนามของสภา เหรัญญิกของสภาจะเก็บรักษาเงินสดไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท (สามพันบาทถ้วน)
เลขาธิการสภามีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสภาได้ไม่เกินครั้งละ ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
เลขาธิการสภาโดยมติของคณะกรรมการสั่งจ่ายเงินของสภาได้ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
หากจำนวนเงินค่าใช้จ่ายเกินกว่าจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาท) ต้องขออนุมัติ จากที่ประชุมใหญ่ในแต่ละรายการ
ข้อ ๒๒. เลขาธิการสภาต้องอนุมัติค่าใช้จ่ายก่อน ในแต่ละรายการก่อนการจ่ายเงิน และเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ให้เลขาธิการสภาและกรรมการอื่นอีก ๒ คน ลงนามร่วมกันไม่น้อยกว่าสองในสาม
ข้อ ๒๓. เงินหรือผลประโยชน์ของสภาที่ได้รับมา หรือมีผู้บริจาค หรือดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินฝากธนาคาร ต้องตกเป็นของสภาทั้งสิ้น
ข้อ ๒๔. สภาจะแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสม ไม่เกิน ๓ คน เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสภาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ และต้องรายงานผลให้คณะกรรมการทราบ
ผู้ตรวจสอบกิจการจะได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการสภากำหนดและได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ
หมวด ๘
การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๕. นับแต่จัดตั้งสภา ผู้เริ่มก่อการจะต้องนัดสมาชิกมาประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อ
(๑) รับรองธรรมนูญทั้งฉบับ
(๒) เลือกตั้งคณะกรรมการและมอบหมายงาน
(๓) กำหนดอัตราค่าสมาชิก
(๕) กำหนดอัตราค่าบำรุงรายปี
(๖) กำหนดจำนวนเงินเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม ค่าพาหนะเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นทำนองเดียวกันให้แก่กรรมการ
(๗) เรื่องอื่น ๆ
ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภา มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับคณะกรรมการ
ข้อ ๒๖. สภาจะต้องเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละหนึ่งครั้งภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันครบรอบปีของสภา เพื่อ
(๑) รับทราบรายงานกิจการในรอบปีที่ผ่านมา
(๒) พิจารณาอนุมัติบัญชีรายได้ รายจ่ายและบัญชีงบดุล
(๓) เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทนคณะกรรมการเมื่อครบวาระหรือทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
(๔) พิจารณาแก้ไขหรือเพิ่มเติมธรรมนูญ
(๕) เรื่องอื่น ๆ
ข้อ ๒๗. สภาจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ในกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบหรือมติจากที่ประชุมใหญ่ ในการดำเนินกิจการของสภา โดย
(๑) คณะกรรมการเรียกประชุม
(๒) สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสิบคน ลงชื่อร่วมกันร้องขอต่อสภาให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อการใดการหนึ่ง
ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอ ให้สภาเรียกประชุมภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
ข้อ ๒๘. สภาจะส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่ไปยังสมาชิกทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน
หนังสือเชิญประชุมต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระการประชุม พร้อมทั้งรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปด้วย
ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่ ต้องมีสมาชิกมาร่วมประชุมร่วมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๓๐. ในการประชุมใหญ่ สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมากถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรณีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมธรรมนูญ และการเลิกสภา ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของผู้มาประชุม
ข้อ ๓๑. การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ โดยเลือกปฏิบัติได้ในแต่ละวาระการประชุม
(๑) ออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผย ให้ใช้วิธียกมือ
(๒) ออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ใช้วิธีกาบัตรลงคะแนน
การนับคะแนนเสียง ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเป็นกรรมการนับคะแนนจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน
ข้อ ๓๒. สมาชิกจะมอบฉันทะเป็นหนังสือให้สมาชิกคนอื่น มาประชุมใหญ่ และออกเสียงแทนตนได้ ผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่งรับมอบฉันทะได้คนเดียว
ข้อ ๓๓. ในกรณีที่จะมีมติเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการ หรือสมาชิกของสภาผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสภา กรรมการหรือสมาชิกของสภาผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ ๓๔. ให้เลขาธิการสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าเลขาธิการสภาไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
หมวด ๙
คณะกรรมการ
ข้อ ๓๕. คณะกรรมการผู้ดำเนินการของสภา มีจำนวนไม่เกิน ๓๕ คน โดยได้รับการเลือกตั้งระหว่างสมาชิกด้วยกันที่มาประชุมในที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วยหน้าที่ เลขาธิการ รองเลขาธิการ เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน และกรรมการอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร และต้องมี คุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) เป็นสมาชิกของสภา
(๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเหมือนไร้ความสามารถ
ให้คณะกรรมการเป็นผู้แทนของสภาในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ในการนี้ คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนขึ้นทำการแทนก็ได้
บทบาทหน้าที่แต่ละตำแหน่งของกรรมการ
เลขาธิการ - ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ธรรมนูญ และวัตถุประสงค์ของสภา เป็นผู้แทนสภาในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสภา
รองเลขาธิการ - ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาในการบริหารกิจการสภา ปฏิบัติตามที่เลขาธิการสภาได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนเลขาธิการสภาเมื่อเลขาธิการสภาไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
เลขานุการ - ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสภา นัดการประชุมกรรมการ การประชุมใหญ่ จดและรักษารายงานการประชุม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุม ต่าง ๆ ของสภา
เหรัญญิก - มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสภา เป็นผู้จัดทำบัญชีรายได้-รายจ่าย บัญชีงบดุลของสภา และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทางการเงิน บัญชีของสภาไว้เพื่อการตรวจสอบ รายงานฐานะการเงินและงบดุลของสภาต่อที่ประชุม
นายทะเบียน - มีหน้าที่จัดทำ และรักษาทะเบียนสมาชิก ตลอดจนหลักฐานเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิก
กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ - มีหน้าที่ตามมติที่ประชุม
ข้อ ๓๖. วิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ตามข้อ ๓๕ สภากำหนดวิธีดังนี้
เลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลตามหน้าที่ที่มีกำหนดในธรรมนูญอันได้แก่ เลขาธิการ รองเลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน เลขานุการ และกรรมการอื่นๆ จนครบจำนวนที่กำหนดไว้ในธรรมนูญ ให้สมาชิกเสนอชื่อสมาชิกที่สมควรเป็นเลขาธิการ รองเลขาธิการ เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน กรรมการอื่น ๆ และมีสมาชิกอื่นรับรองไม่น้อยกว่า ๓ คน
ถ้ามีการเสนอชื่อสมาชิกที่สมควรเป็นเลขาธิการเพียงคนเดียว ก็ให้ถือเป็นมติของที่ประชุมใหญ่รับรองผู้นั้นเป็น เลขาธิการสภา
หากมีการเสนอหลายคน ให้ประธานในที่ประชุมขอมติที่ประชุมโดยการออกเสียงลงคะแนน การวินิจฉันชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก และให้เลือกตั้งไปเช่นนี้จนครบจำนวนกรรมการทุกตำแหน่ง
ข้อ ๓๗. กรรมการของสภาไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือประโยชน์อย่างอื่นทำนองเดียวกันจากสภากรรมการของสภาอาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ หรือเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นทำนองเดียวกันจากสภา ตามที่สภาได้วางระเบียบไว้ให้จ่ายตามมติที่ประชุมใหญ่กำหนด
ข้อ ๓๘. กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งตามข้อที่ ๓๖ อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่มีมติ และจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
กรรมการชุดที่ออกตามวาระจะต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่และคณะกรรมการชุดใหม่รับมอบหน้าที่เป็นหนังสือ และเข้ารับหน้าที่แทนแล้ว จึงจะพ้นหน้าที่ คณะกรรมการชุดใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเลือกตั้ง
กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ สภาจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และให้อยู่ในหน้าที่เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ ๓๙. กรรมการของสภาย่อมพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ครบกำหนดตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออกโดยทำเป็นหนังสือ
(๔) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๓๕
ข้อ ๔๐. ให้มีการประชุมคณะกรรมการทุกเดือน ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการ หรือกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจะเรียกประชุมก็ได้
ข้อ ๔๑. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะนับเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๔๒. ให้เลขาธิการสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าเลขาธิการสภาไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๔๓. คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการของสภา และให้รวมถึง
(๑) ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ธรรมนูญ และมติของที่ประชุมใหญ่ หรือกฎหมายอื่น
(๒) วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสภาให้เป็นไปตามธรรมนูญ
(๓) จัดทำและเก็บรักษาเอกสาร หลักฐานทางการเงินและบัญชี ทะเบียนสมาชิก และทรัพย์สินของสภา
(๔) แต่งตั้งผู้ตรวจสอบกิจการหรือตรวจสอบบัญชีของสภาเสนอที่ประชุมใหญ่เห็นชอบ
(๕) เป็นตัวแทนของสภาในการร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับสภา
หมวด ๑๐
การเลิกสภา และการชำระบัญชี
ข้อ ๓๘. สภาย่อมเลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมใหญ่ลงคะแนน ๔ ใน ๕ ของจำนวนผู้เข้าประชุม มีมติให้เลิก
(๒) ไม่ดำเนินการตามอุดมการณ์ และวัตถุประสงค์ของสภาเป็นเวลา ๒ ปี ติดต่อกัน และไม่สามารถเรียกประชุมใหญ่ได้
ข้อ ๓๙. เมื่อสภาต้องเลิก ให้มีการชำระบัญชี
ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาตั้งผู้ชำระบัญชีโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ข้อ ๔๐. ให้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสภาจัดการรักษาทรัพย์สินทั้งหมดของสภาไว้จนกว่า ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ส่งมอบ
ข้อ ๔๑. ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลของสภาส่งให้คณะกรรมการสภาเพื่อตรวจรับรองและเสนอ
ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติ
ข้อ ๔๒. เมื่อได้ชำระบัญชีแล้วถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่จะโอนไปให้แก่ นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์
เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะ หรือเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่
ถ้ามิได้ระบุไว้ในธรรมนูญหรือที่ประชุมใหญ่มิได้มีมติไว้ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
คณะกรรมการ สภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย (๒๕๕๖-๒๕๕๘)
๑) นายพงศ์ศักดิ์ ลีรานนท์ เลขาธิการ
๒) นางชนิดา เกตุเอม เหรัญญิก
๓) นางนิรมล ธนวิทยกุล นายทะเบียน
๔) นางอรอุษา จรุงสรศักดิ์ สวัสดิกรและปฏิคม
๕) นายปณัท นิตย์แสวง กรรมการ-วิชาการ
๖) นายวรพล ตถตา กรรมการ-ประสานงานองค์กร
๗) นายพรเทพ ทองหล่อ กรรมการ-ประสานงานเครือข่าย
ที่ปรึกษา
นายสุชา จุลเพชร
ดร.ไพฑูรย์ บุญวัฒน์
นพ.ปรีชา จารุสุนทรศรี
นายสุพจน์ สวนสุวรรณ์
พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ พูลสวัสดิ์
นายแผ่เกียรติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
No comments:
Post a Comment